วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พิธีกรรมที่เยาวชนประทับใจ

พิธีกรรมเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อของกลุ่มชนที่ศรัทธาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำหรับคาทอลิก  แสดงว่าเราเชื่อศรัทธาในพระเจ้าด้วยการประกอบพิธีกรรม  เพื่อการนมัสการพระเจ้าเพราะถือว่าพระเจ้าทรงเป็น "เจ้าของชีวิต" ของเรา  ทรงเป็น "จุดหมายปลายทาง" ของชีวิต

พิธีกรรมของเราคาทอลิกมีมากมายยกตัวอย่างเรื่อง  การสวดภาวนา  ก็มีจุดประสงค์แตกต่างกันไป  เช่น  การภาวนาเพื่อผู้ล่วงลับ  พิธีปฏิญาณตน  การเฉลิมฉลองต่างๆ  และที่สำคัญ  คือ  ศีลศักดิ์สิทธิ์  7  ประการ

ศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทยได้ทำการสำรวจบรรดาเยาวชน  โดยตั้งคำถามว่า  "พิธีกรรมทางศาสนาที่เยาวชนประทับใจคือ..."

เยาวชนอายุระหว่าง 15 - 20 ปีตอบคำถามนี้ทั้งสิ้น  466  คน  พิธีกรรมที่ประทับใจเยาวชนมากที่สุด  ร้อยละ  36 (170)  ได้แก่  "พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ"  รองลงมา  ร้อยละ 10 ไม่แสดงความคิดเห็น  ส่วนที่เหลือเป็นความประทับใจที่กระจัดกระจาย  เช่น  มิสซาคริสต์มาส  มิสซางานแต่ง  การภาวนาเทเซ่  พิธีล้างบาป  การแห่ศีลมหาสนิท ฯลฯ

แม้ว่าจะมีจำนวนร้อยละไม่ถึงห้าสิบ  แต่ก็แสดงว่าบรรดาเยาวชนผูกพันกับพิธีมิสซาฯมากกว่าพิธีกรรมอื่นๆ  อาจจะเป็นเพราะว่า  เราคาทอลิกจะเฉลิมฉลองอะไรก็ต้องมีพิธีมิสซาฯเสมอๆ  ไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืองานศพ  เพราะถือว่าเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

ปัจจุบันเราเรียกพิธีมิสซาว่า  "พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ"  ชื่อยาวกว่าเดิมอีกนิดหนึ่ง  ทั้งนี้  เพื่อให้ตรงกับความหมายดั้งเดิมของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์นี้  แต่โดยทั่วไปเรายังใช้คำว่า  "มิสซา"  กันอยู่  เพราะติดปากแล้ว

ทำไมคาทอลิกจึงให้ความสำคัญกับพิธีมิสซาฯ  ตอบง่ายๆ  ก็คือ  เป็น "มรดก"  ที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้เราคริสตชนกระทำ  พระเยซูตรัสว่า  "จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด"

พิธีมิสซาประกอบด้วยสองภาคใหญ่ๆ คือ ภาควจนพิธีกรรม  ประกอบด้วย  บทอ่านจากพระคัมภีร์  การเทศน์และบทภาวนาเพื่อมวลชน  และภาคบูชาขอบพระคุณ  ซึ่งประกอบด้วยการถวายปังและเหล้าองุ่น  บทภาวนาขอบพระคุณ  บทเสกศีล  และการรับศีลมหาสนิท  บางครั้งเราจะได้ยินบางคนพูดว่า  ในพิธีมิสซามรสองโต๊ะ  คือ  โต๊ะแห่งพระวาจาของพระเจ้า  กับโต๊ะแห่งศีลมหาสนิท  (โต๊ะในที่นี้หมายถึงที่อ่านบทอ่านกับพระแท่นบูชา)

ในพิธีมิสซาฯ  เราได้รับฟังพระวาจาของพระเจ้า  เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต  และเราไเ้รับศีลมหาสนิท  เพื่อจะได้รับชีวิตของพระเจ้าเข้ามาเป็นตัวของเราเอง  เราจึงพูดได้เต็มปากว่า  "พระเจ้าสถิตกับเรา"

อยากให้บรรดาเยาวชนมาวัดรับศีลมหาสนิทกันอย่างสม่ำเสมอ  เพราะการรับศีลมหาสนิท  ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับพระเยซูเจ้าสนิทกันมากยิ่งขึ้น  ยิ่งรับศีลฯบ่อยๆ ยิ่งผูกพันใกล้ชิด  เพราะพระเยซูตรัสไว้ว่า  "ใครกินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเราก็ดำรงอยู่ในเรา  และเราก็ดำรงอยู่ในเขา" (ยน 6:56)  นอกจากนั้นแล้วพลังของศีลมหาสนิทจะเป็นเหมือนยาบำรุงจิตใจของเราให้เข้มแข็ง  ทำให้เราเอาชนะการประจญต่างๆ ที่ชวนให้เราทำบาป  หรือทำให้ชีวิตของเราตกต่ำไร้ศีลธรรม  ตรงกันข้ามพลังแห่งศีลมหาสนิทกลับช่วยให้เรามีจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคงในการกระทำความดี  ทำกิจเมตตาที่จะอุทิศตนช่วยเหลือคนยากไร้ได้อีกด้วย  และที่สำคัญการรับศีลบ่อยๆ ทำให้เรามีความรักที่แท้จริงต่อพ่อแม่  เพื่อนพี่น้อง  และรักได้แม้กระทั่งกับคนที่เราไม่ชอบ  (คำสอนฯข้อ 1391 - 1398)  

เยาวชนที่รัก  ไม่ผิดเลยที่เราชอบพิธีมิสซาฯ  เพราะมิสซาฯมีคุณค่ามหาศาลจริงๆ  แต่อย่าชอบอย่างเดียวเท่านั้น  ต้องมาช่วยกันทำให้มิสซาฯมีชีวิตชีวาอีกด้วยถึงจะครบเครื่อง

เผยแพร่โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการอบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทย
บาทหลวงวัชศิลป์  กฤษเจริญ

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

งานอดิเรก

        หน้าที่การงานของเด็ก  คือ  การเล่น  
        หน้าที่ของเยาวชน  คือ  การเรียน
        หน้าที่ของผู้ใหญ่  ก็คือ  การทำงานหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว
        แล้วงานอดิเรกหล่ะ  "เมื่อมีเวลาว่างท่านมักจะทำอะไร.."
    จากการสำรวจของศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทย  เยาวชนอายุระหว่าง 15-20 ปี  จำนวน 466 คน  มีคำตอบที่กระจัดกระจายกันออกไป  ไม่มีงานอดิเรกใดที่มีคะแนนมากจนเด่นชัด  คำตอบที่มีจำนวนมากพอๆ กัน  มีสามอันดับ  คือ  ฟังเพลง/ร้องเพลง/เล่นดนตรี  จำนวนร้อยละ 21  ดูโทรทัศน์/ดูหนัง  ร้อยละ 20  และอ่านหนังสือ/ทำการบ้าน  ร้อยละ 19  ส่วนที่เหลือเป็นคำตอบอื่นๆ  เช่น  นอน  ฝึกคอมพิวเตอร์  อินเตอร์เน็ต  เล่นเกมส์  เล่นกีฬา  สวดสายประคำ  อ่านพระคัมภีร์  ช่วยงานบ้าน  ฯลฯ
        อ่านคำตอบแล้วน่าชื่นใจไหม  นี้คือเยาวชนคาทอลิกของเรา
       เยาวชนคาทอลิกของพวกเรา  "รักเสียงเพลง"  นับว่าเป็นเรื่องที่ดี  ตรงจุดนี้  น่าจะเป็นข้อคิดสำหรับบรรดาผู้อภิบาลทั้งหลายว่า  ทำอย่างไรจะทำให้สิ่งที่พวกเขาชอบเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาในวัดของเรา  เช่น  การจัดตั้งคณะขับร้องประสานเสียง  การส่งเยาวชนไปเรียนวิชาดนตรี  การส่งเสริมให้ฝึกหัดการเล่นออร์แกนหรือเครื่องดนตรีอื่นๆ  เชื่อแน่ว่าแต่วัดของเรามีเยาวชน  หรือสมาชิกวัดที่มีความสามารถทางด้านนี้อยู่ไม่น้อย  หรือไม่มีพวกเขาก็มีเพื่อนที่เก่งดนตรีชวนกันมาเล่นเพลงสรรเสริญพระเจ้าด้วยกันในวันอาทิตย์ก็ได้
        มีบางวัดที่เยาวชนรวมตัวกันเป็นคณะขับร้องของวัด  ขนาดออกเทป-ซีดีเผยแพร่  บางวัดชวนเพื่อนที่ไม่ใช่คาทอลิกมาเล่นดนตรีในวัดกัน  มีการนัดกันฝึกซ้อมอย่างเป็นกิจลักษณะด้วย
    อีกประการหนึ่งเมื่อเยาวชนชอบเสียงเพลง     คาทอลิกของเรามีเพลงเพื่อชีวิตบางหรือไม่      เพลงประเภทที่สามารถร้องได้ทั่วไป  ไม่ใช่เพลงที่ร้องในวัดในพิธีกรรมเท่านั้น  เราจะเอาเพลง  "สู่พระแท่นบูชา"  มาร้องเล่นก็น่าเกียดใช่ไหม  เพลงที่ร้องเล่นๆ กันในหมู่เยาวชน  เพลงที่ทำให้จิตใจสูงขึ้น  เพลงที่สามารถนำมาร้องในงานมงคลต่างๆ  เมื่อเราไม่มีเพลงประเภทนี้  เยาวชนของเราก็จะเอาเพลงวัยรุ่นอื่นๆ ในตลาดเพลงมาร้อง
        เวลาไปงานเลี้ยงในบรรยากาศคาทอลิก  ไม่ว่าจะเป็นงานแต่ง  หรืองานฉลอง  บรรดาพระสงฆ์  นักบวช  ในโอกาสต่างๆ  เราน่าจะมีเพลงแบบคาทอลิกของเรามาร้อง  หรืองานน้อยเป็นเพลงสร้างสรรค์อื่นๆ  เช่น  เก็บตะวัน ฯลฯ  ไม่ใช่เอาเพลงประเภทชิงรักหักสวาท  หรือฉันรักเธอ  เธอรักฉันมาขับกล่อมแขกเหรื่อ  ใครที่มีความสามารถช่วยกันแต่ง  ช่วนกันผลิดเพลงประเภทนี้ขึ้นมามากๆ หน่อย  จะช่วยอุดหนุน

เผยแพร่โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการอบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทย
บาทหลวงวัชศิลป์  กฤษเจริญ