วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

คนแรกที่คิดถึง

"เพื่อนในยามทุกข์คือเพื่อนแท้"
การสำรวจความคิดเห็นบรรดาเยาวชนในเรื่อง "คนแรกที่ท่านคิดถึงเมื่อยามทุกข์"  ของศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทยจากจำนวนเยาวชน 466 คน  ปรากฎว่า 
อันดับแรกของเยาวชนร้อยละ 50 คือ พ่อแม่และคนในครอบครัว
รองลงมาร้อยละ 33 คิดถึงพระเจ้า  พระเยซูเจ้า  และแม่พระ
ส่วนที่เหลือเป็นคำตอบอื่นๆ เช่น เพื่อน แฟน ฯลฯ

ตามความคิดเห็นของเยาวชน  ขอยกบางตอนจากบทความเรื่อง "วิกฤตวันรุ่น  ปัญหาหรือปรากฏการณ์"  จากนิตยสาร  "สื่อพลัง"  ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม - มีนาคม  2548  มาประกอบ  เพื่อให้พ่อแม่เป็นที่พึ่งของลูกได้อย่างดียิ่งขึ้นดังนี้

จากการสัมภาษณ์เยาวชนจำนวนมากและการเฝ้าติดตามพฤติกรรมเยาวชน  ทั้งในสถานศึกษาและนอกระบบ  รวมถึงการให้เยาวชนได้มีส่วนในการแสดงความคิดเห็นของ  พญ.พรรณพิมล  หล่อตระกูล  และดร.อมรวิชช์  นาครทรรพ  พบว่า  "เยาวชนต้องการที่ปรึกษาหรือผู้ที่แสดงความเข้าอกเข้าใจ  ยินดีรับฟังปัญหาและให้คำแนะนำแก่เขาโดยไม่ด่าว่า  ไม่ตัดสินหรือมุ่งแต่จะเห็นเขาเป็นปัญหา"

พญ.พรรณพิมลยังให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ในการสอนลูก  ปัจจุบันพ่อแม่จะให้ลูกอยู่ในกรอบหรือจะใช้วิธีการสมัยที่ตนเองได้รับการเลี้ยงดูมาใช้  เช่น  การกำหนดสิ่งต่างๆ ให้ลูกกระทำ  ต้องเรียบร้อย  ต้องพูดเพราะ ฯลฯ  ไม่ได้แล้ว  เพราะลูกไม่ได้อยู่แต่ในบ้านเท่านั้น  ยุคนี้เปิดกว้างอย่างที่พ่อแม่ต้องไล่ตามอย่างหนักและคงตามไปทุกที่ไม่ได้  สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ  ก็คือ  ทำอย่างไรที่จะให้ลูกสามารถคิดและตัดสินใจด้วยตนเองได้  ซึ่งบางครั้งพ่อแม่จะต้องมองข้ามพฤติกรรมบางอย่างของลูกไป

"การห้าม"  อย่างเดียวไม่พอ  สิ่งที่สำคัญมีอย่างเดียวคือ  "คุยกัน"  ด้วยวิธีคิด  พ่อแม่ต้องเปิดเพื่อที่จะได้คุยกันได้  หาวิธีการเรียนรู้ร่วมกัน  ให้โอกาสในการตัดสินใจให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ลูกสามารถคิดได้ด้วยตนเอง  ต้องคุยกันทางความคิดแบบที่ไม่ใช่ตัดสินจากตัวเราเป็นหลัก  ค่อยๆ สร้างการตัดสินใจให้เขา  ถ้าเราให้เวลากับเขามากขึ้น  มีเวลาคุยกันในเรื่องทั่วไป  เราจะพบว่าเด็กค่อยๆ สะสมความคิดที่ได้รับจากพ่อแม่มากกว่าข้างนอก  และหล่อหลอมเป็นตัวตนของเขาในที่สุด

อยากจะบอกพ่อแม่ว่าจริงๆ แล้วเรามีอิทธิพลต่อลูกนะ  แต่หมายความว่าเราต้องทำด้วย  ไม่ใช่คาดหวังอย่างเดียว

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

กล้าไหม

มีผู้ใหญ่ที่เคารพคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า  วันหนึ่งไปทานข้าวที่ตลาด  เห็นหนุ่มคนหนึ่งทำสำคัญมหากางเขน  เดชะพระนาม...สวดก่อนทานอาหาร  เขารู้สึกประทับใจมากจึงเดินเข้าไปคุยด้วยถามว่า  "เธอเป็นคาทอลิกหรือ"  หนุ่มคนนั้นตอบว่า.."ใช่ครับ...ผมเป็นพระสงฆ์...เป็นเจ้าอาวาสวัดนครปฐม..."

เยาวชนที่รัก  ถ้ามีใครถามเธอว่าเธอนับถือศาสนาอะไร  เธอมั่นใจที่จะตอบว่าเธอเป็นคาทอลิกหรือไม่  เธอกล้าสวดภาวนาก่อนทานอาหารหรือไม่  ฯลฯ

 เยาวชน 369 คนจาก 469 หรือ 80.39% ตอบคำถาม  "ท่านกล้าแสดงตนเป็นคริสตชนอย่างเปิดเผยหรือไม่"  ว่า  "กล้า" ในขณะที่ 8.71% ไม่แสดงความคิดเห็น 5.71%  ตอบว่า  "ไม่ค่อยกล้า" หรือ "แล้วแต่โอกาส"  จำนวน 4.79% ตอบว่าไม่กล้า  ส่วนที่เหลือเป็นคำตอบอื่นๆ

จากผลสำรวจแสดงว่าเยาวชนคาทอลิกกล้าที่จะแสดงตนว่าเป็นคาทอลิก  ซึ่งความจริงแล้วการเป็นคาทอลิกไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัวหรือเป็นความผิดประการใด  ตรงกันข้าม  กลับเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจอย่างยิ่ง

การได้ชื่อว่าคริสตชนนั้น  มาจากศีลล้างบาปที่เราได้รับ  เราคาทอลิกได้รับศีลล้างบาปในพระนามของ  "พระบิดา  พระบุตร  และพระจิต"  พระนามนี้เป็นพระนามศักดิ์สิทธิ์  จึงทำให้เราผู้ที่ได้รับเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย  นอกจากนั้น  ในศีลล้างบาปเรายังได้รับ  "ชื่อนักบุญ" องค์หนึ่งให้เป็นผู้อุปถัมภ์เรา  การที่พระศาสนจักรให้เรามีนักบุญองค์อุปถัมภ์  หรือนักบุญประจำตัวนี้  ก็เพื่อ  "ให้ท่านเป็นแบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิตและเป็นผู้เสนอวิงวอนต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าแทนเรา" (คำสอนฯ ภาค 1 ข้อ 828)

คาทอลิกเริ่มชีวิตประจำวันด้วยการอธิฐานก่อนทำกิจการต่างๆ  ด้วยการทำเครื่องหมายกางเขน  ที่เรียกว่า  "ทำสำคัญมหากางเขน"  "เดชะพระนาม  พระบิดา  พระบุตร  และพระจิต  อาแมน"  ซึ่งมีความหมายว่า  เราคาทอลิกขอมอบชีวิตประจำวันนี้  เพื่อพระเกียรติของพระเจ้า  และเป็นการวิงวอนขอพระพรจากองค์พระผู้เป็นเจ้าในการกระทำกิจการต่างๆ  ขอให้ประสบผลสำเร็จ  ขอให้มีความสุข  ฯลฯ  การทำสำคัญมหากางเขนทำให้เราเข้มแข็ง  และสามารถเอาชนะการประจญล่อลวงให้ทำสิ่งที่ผิดบาปและเอาชนะความยากลำบากต่างๆ ในชีวิตได้  (เทียบคำสอนฯ ภาค 3 ข้อ 2156-2157)

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

กลับบ้านเรา...รักรออยู่

เยาวชนที่รัก  "เมื่อมีความทุกข์หรือมีปัญหาท่านทำอย่างไร"

ผลการสำรวจของศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทยพบว่า  
วิธีการที่บรรดาเยาวชนใช้เมื่อมีความทุกข์มากที่สุด  ก็คือ  
การเข้าไปปรึกษาพ่อแม่  ผู้ใหญ่ที่นับถือ  คนรอบข้าง  พี่น้องในครอบครัว  และครู  
ซึ่งมีจำนวน 41.12% (227 คน จาก 552 คน)
วิธีปฏิบัติตนอันดับสอง 34.24% (189 คน)  
ได้แก่  การพึ่งพระเจ้า  ด้วยการสวดภาวนา  ไปวัด  เฝ้าศีลมหาสนิท 
อันดับสาม  
ได้แก่  การคิดพิจารณาหาทางออกด้วยตนเอง  12.5% (69 คน)
อันดับสี่ 
หาอะไรทำให้ลืมความทุกข์ เช่น ดูหนังฟังเพลง  เล่นกีฬา  เล่นเกมส์  วาดรูป  ท่องเที่ยว  5.25% (29 คน) อันดับห้า
อยู่คนเดียว  เก็บไว้คนเดียว  ไม่อยากพูดกับใคร  ปลอบใจตนเอง  ให้ความหวังตนเอง 3.09% (17 คน)
ส่วนที่เหลือตอบอื่นๆ

การปฏิบัติตนของเยาวชนเมื่อมีความทุกข์จะเห็นได้ว่า  พวกเขาคิดถึงพ่อแม่พี่น้องหรือครอบครัวเป็นอันดับหนึ่ง  จากนั้น  จึงเข้าหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าหรือศาสนา

บทบาทของพ่อแม่หรือครอบครัวยังมีความสำคัญยิ่งสำหรับเยาวชน  พวกเขาสำนึกเสมอว่า  "ไม่มีใครรักเราจริงเท่าพ่อแม่"  แต่อย่างไรก็ดี  เนื่องจากพวกเขายังอยู่ในวัยอยากรู้อยากลอง  และไม่อยากขัดใจเพื่อน  แต่แท้ที่จริงแล้วในใจลึกๆ ของพวกเขาไม่ว่าจะล่องลอยไปไหนมาไหนก็ตาม  สุดท้ายก็ต้องกลับมาที่บ้าน  เหมือนที่เพลงหนึ่งบอกว่า  "กลับบ้านเรารักรออยู่"

พ่อแม่จะต้องให้โอกาสลูกได้พูดคุยถึงความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ของพวกเขา  พ่อแม่ต้องทำตัวให้ลูกพูกคุยได้ง่ายๆ พระบัญญัติประการที่ 4 ได้ระบุถึงหน้าที่ของบิดามารดาว่า
1. ให้กำเนิดบุตร
2. ให้การอบรมเลี้ยงดูบุตร  โดยสำนึกว่าบุตรนั้นคือลูกของพระเจ้า  เป็นมรดกที่พระเจ้าประทานให้
3. ปลูกฝังคุณธรรม  ความเชื่อศรัทธาในศาสนาให้เป็นมรดกทางจิตใจแก่ลูก
4. จัดหาสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของบุตรทั้งทางร่างกายและจิตใจ
5. เลือกโรงเรียนที่ตอบสนองต่อความเชื่อทางศาสนาให้บุตร
6.ให้เสรีภาพแ่บุตรในการเลือกอาชีพและวิถีชีวิตของเขา (เทียบ  คำสอนฯ  ภาค3  ข้อ 2221-2231)

บ้านของคาทอลิกเราจะต้องเป็น "วัดน้อยๆ" เป็นที่ประทับของพระเจ้า  ลองสำรวจบ้านของเราดูซิว่าเป็นอย่างไร  ด้านภายนอก  บ้านของเรามีรูปพระ  มีหิ้งพระ  รูปนักบุญองค์อุปถัมภ์ไว้เพื่อเตือนใจเราและลูกของเราไหม  ทางด้านชีวิตความเป็นอยู่  บ้านของเรามีการสวดภาวนาพร้อมกันบ้างไหม  ก่อนหลังอาหาร  ก่อนเดินทาง  ก่อนการทำกิจการสำคัญๆ มีการสวดหรือสอนให้สวดบ้างไหม  วันอาทิตย์ไปวัดร่วมมิสซาฯพร้อมๆ กันไหม  มีการฉลองวันเกิดและฉลองนักบุญองค์อุปถัมภ์ไหม  ไปฉลองวัดหรือแสวงบุญในที่ต่างๆ ไหม  ไปร่วมเสกป่าช้าบ้างไหม ฯลฯ

พระเจ้าทรงฝากลูกๆ ของพระองค์ไว้ให้อยู่ในความคุ้มครองดูแลของพ่อแม่  ลูกๆ ยังต้องการพ่อและแม่เสมอ  ไม่มีใครมาแทนพ่อแม่ได้  ในเวลาเดียวกัน  พ่อแม่ต้องไม่ซ้ำเติม  แต่พร้อมที่จะปลอบโยนและให้กำลังใจลูกเสมอ

วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

อายไหม

ผมเคยถามเยาวชนชายที่กำลังเรียนระดับ ปวช. คนหนึ่งว่า "วันอาทิตย์ไปวัดบ้างหรือเปล่า" เขาตอบว่า "แล้วแต่ครับ...วันไหนมีเพื่อน  ผมก็จะไป  แต่ถ้าอาทิตย์ไหนเพื่อนไม่ไป  ผมก็ไม่ไป"  

เพื่อนมีความสำคัญสำหรับเยาวชนอย่างมาก  บางครั้งสำคัญกว่าพ่อแม่ด้วยซ้ำไป  แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้าให้เลือกกันจริงๆ พ่อแม่ต้องมาก่อนเพื่อนอย่างแน่นอน  เยาวชนจะปรึกษาเพื่อนในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การซื้อเสื้อผ้า  ข้าวของเครื่องใช้เล็กๆ น้อยๆ  เป็นต้น  เรื่องที่เป็นแฟชั่นหรือเรื่องที่นิยมกันตามยุคสมัยตามสมัย  แตาถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญๆ ในชีวิต  เขาจะปรึกษาพ่อแม่  เช่น  เรื่องของการเรียนต่อ  เรื่องอาชีพการงาน  และการตัดสินใจที่สำคัญๆ

คำถามจากแบบสอบถามเยาวชนคาทอลิกอายุระหว่าง 15-20 ปี  ของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการอบรมคริสตศาสนธรรมข้อหนึ่งที่ว่า  "ท่านอายไหมที่จะไปวัดคนเดียว"เยาวชน 400 คน จาก 458 คน หรือ 87.34% ตอบว่า "ไม่อาย"
มี 4.59% ที่ตอบว่า  "อาย"
ส่วนที่เหลือ 8.07% เป็นคำตอบอื่นๆ  เช่น  "เขิน"  "ไม่อายแต่วังเวง"  หรือ  "ไม่อายแต่ไม่ชอบ"  เป็นต้น

ถ้าใครเห็นตัวเลขจากคำตอบของเยาวชนแล้ว  อาจจะนึกเถียงอยู่ในใจว่า  "วัดของฉันไม่เห็นพวกเยาวชนมาวัดเลย"  คำตอบที่ว่า "ไม่อาย"  ที่จะไปวัดคนเดียวนี้  ไม่ได้หมายความว่า  เยาวชนไปวัดจริงๆ หรือเปล่า  พวกเขาไม่อายแต่ยังไม่ไปวัดก็ได้  ใช้ไหมครับ

อย่างไรก็ตามขอบอกเพื่อนๆ เยาวชนว่า  การไปวัดวันอาทิตย์เป็นการถือตามพระบัญญัติประการที่สาม  "วันพระเจ้าอย่าลืมฉลองเป็นวันศักดิ์สิทธิ์"

"วันอาทิตย์"  เป็นวันศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นวันที่พระเยซูเจ้า  "ทรงกลับเป็นขึ้นมาจากความตาย"  การกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้าเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งของคริสตศาสนา  เพราะเป็นการยืนยันว่าคำสอนต่างๆ ที่พระเยซูเจ้าทรงสอนขณะที่มีชีวิตอยู่นั้น  เป็นความจริง  เป็นต้นการพิสูจน์ว่าพระองค์  ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแท้จริง  และยังเป็นหลักประกันด้วยว่าเรามนุษย์จะกลับเป็นขึ้นมาจากความตายจะมีชีวิตใหม่  เช่นเดียวกับพระเยซูเจ้า (เทียบคำสอนฯ  ภาค 1  ข้อ 651)

วันอาทิตย์จึงมีจุดประสงค์ใหญ่ๆ สองประการ คือ 
หนึ่งเพื่อนมัสการพระเจ้าด้วยการร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณที่วัด  ร่วมกับพี่น้องคาทอลิกอื่นๆ
สองเพื่อการพักผ่อนเช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงพักผ่อนหลังจากเสร็จภารกิจการสร้างโลกในหกวัน  
การมีเวลาว่างเพื่อการพักผ่อนนี้  พระศาสนจักรสอนว่า  เพื่อจะได้ใช้เวลาเสริมสร้างความรักและความสัมพันธ์ที่ดีให้กับครอบครัว  สังคม  และศาสนา  ตัวอย่างเช่น  การปฏิบัติกิจเมตตาด้วยการออกไปช่วยเหลือผู้ขัดสนต่างๆ การใช้เวลาเยี่ยมผู้เจ็บไข้ได้ป่วยหรือคนชรา  การพาครอบครัวไปเยี่ยมญาติพี่น้อง  การไปรับการสัมมนาหรือการเรียนคำสอน  เป็นต้น  (เทียบ  คำสอนฯ  ภาค 3 ข้อ 2184-2188)

ดังนั้น  คนรุ่นใหม่จะไปอายทำไมเรื่องการไปวัด  จะคนเดียวก็ไปได้  ชวนเพื่อนๆ ไปก็ยิ่งดี  ช่วยกันทำให้วันอาทิตย์เป็นวันศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงดีกว่า  จริงไหม

เผยแพร่โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการอบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทย
บาทหลวงวัชศิลป์  กฤษเจริญ 

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

ศีลอภัยบาป

คนคริสต์นี้ดีเน้อ...  ทำบาปก็ไปล้างบาปได้  ไม่เห็นต้องกลัวอะไร......
ศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนในความรู้สึก
ที่พวกเขามีต่อศีลอภัยบาป  ด้วยคำถามอภัยบาป  ที่ว่า  "คิดอย่างไรเกี่ยวกับศีลอภัยบาป"  

เยาวชนให้คำตอบมาทั้งสิ้น 403 คำตอบ  
ผลสรุปจากคำตอบ  ไม่มีข้อใดที่มีน้ำหนักมากจนโดดเด่น  
คำตอบเรียงตามลำดับมากไปน้อยดังนี้  
1) ร้อยละ 21 ตอบว่า ทำให้รู้สึกดีขึ้น สบายใจขึ้น สุขใจ ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง 
2) ร้อยละ 17 ไม่แสดงความคิดเห็น  
3) ร้อยละ 16 ตอบว่าช่วยให้สำนึกผิดและไม่อยากทำบาปอีก 
4) ร้อยละ 15 ตอบว่าทำให้มีโอกาสกลับใจ  ทำให้เริ่มต้นชีวิตใหม่  กลับมาเป็นลูกของพระเจ้าอีกครั้ง  
5) ร้อยละ 11 ตอบว่าเป็นการคืนดีกับพระเจ้า  เป็นการขอโทษพระเจ้าและที่เหลือเป็นคำตอบอื่นๆ

คำตอบในลำดับที่ 1 แสดงถึงความรู้สึกทางด้านจิตใจ  ที่ได้รับเมื่อพูดถึงศีลอภัยบาป  ลำดับที่ 3, 4, 5, แสดงถึงผลที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของศีลอภัยบาปโดยตรง  ส่วนคำตอบในลำดับที่ 2 ที่ไม่แสดงในความคิดเห็นนั้น  อาจจะเป็นเพราะไม่ทรายไม่เข้าใจหรือไม่ชอบเข้ารับศีลอภัยบาปก็ได้  แนวโน้มของคำตอบนี้ทำให้ทราบว่า  ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศีลอภัยบาปอยู่ในขั้นที่ดี  เพราะจุดประสงค์ของศีลอภัยบาปนั้น  ก็คือ  การเสียใจในความผิดบกพร่องของตน  ต้องการกลับใจใหม่  ต้องการการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ต้องการคืนดีกับพระเจ้า

พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลอภัยบาปขึ้นมาก็เพราะทรงเข้าใจถึงธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์  ไม่มีใครที่ไม่เคยกระทำผิด  ไม่มีใครมีความสุขได้ถ้ายังมีบาปหรือความผิดสุมอยู่ในตัวของเขา  จำเป็นต้องเอาออกไป  ต้องชำระออกไป

ขั้นตอนของการรับศีลอภัยบาป  มีอยู่ 5 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
1) สวดภาวนาวอนขอพระจิตเจ้าช่วยเราให้เข้ารับศีลอภับบาปได้อย่างดี
2) พิจารณามโนธรรมว่าเราได้ทำผิดหรือบาปอะไรบ้าง
3) เป็นทุกข์เสียใจที่ได้ทำบาปและตั้งใจจะไม่ทำบาปนั้นอีก
4) เข้าไปสารภาพบาปกับพระสงฆ์
5) ทำกิจใช้โทษบาปตามที่พระสงฆ์กำหนดให้
(ศึกษารายละเอียดได้จากคำสอนฯ ข้อ 1450-1460)

หลายคนสงสัยว่าเมื่อเราล้างบาปแล้วทำไมต้องมีการสารภาพบาปอีก  คำตอบก็คือ  เมื่อเราได้รับศีลล้างบาป  บาปทุกชนิดที่ติดตัวเรามาได้รับการอภัยหมดสิ้น  ทั้งบาปกำเนิดและบาปที่เรากระทำด้วยตัวของเราเอง  แต่การล้างบาปไม่ได้ชำระล้างหรือทำลายความโน้มเอียงในการกระทำบาป  หรือเสรีภาพของเรา  มนุษย์ยังต้องมีตัณหาอยู่ในตัวเอง  เราจึงต้องพยายามควบคุมตัวเอง  ใช้เสรีภาพในทางที่ถูกต้อง  มนุษย์จึงยังผิดพลาดอีกได้  ศีลอภัยบาปจึงเป็นความรัก  ความเมตตาของพระเจ้าที่ปรารถนาให้เราพ้นทุกข์และเริ่มต้นชีวิตใหม่

สิ่งที่สำคัญของศีลอภัยบาป  ก็คือ  เราต้องเป็นทุกข์เสียใจอย่างแท้จริง  และต้องตั้งใจจริงว่าจะปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น  ศีลอภัยบาปจึงเป็นการให้โอกาสคนเราในการปรับปรุงตนเอง  มิใช่เพื่อความสบายใจเท่านั้น

เผยแพร่โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการอบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทย
บาทหลวงวัชศิลป์  กฤษเจริญ

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

ด่วน!...เยาวชนอยากรู้

เราคาทอลิกมีการเรียนรู้เรื่องศาสนาที่เรียกกันติดปากว่า   "เรียนคำสอน"  ตั้งแต่เด็ก  โดยเริ่มจากครอบครัวที่สอนลูกๆ ให้สวดภาวนาเป็น  พาไปวัดร่วมพิธีกรรมต่างๆ เมื่อโตขึ้นข้าโรงเรียนก็ได้ครูคำสอนช่วยให้เด็กๆ ได้เข้าใจสิ่งที่พ่อแม่อบรมสั่งสอน  หรือให้เขาทำโน่นทำนี่  มีความหมายอย่างไร  ส่วนเด็กที่ไม่ได้เรียนก็ได้ครูคำสอนช่วยให้เด็กๆ ได้เข้าใจว่าสิ่งที่พ่อแม่อบรมสั่งสอน  หรือให้เขาทำโน้นทำนี่  มีความหมายอย่างไร  ส่วนเด็กที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนคาทอลิก  ทางวัดจะจัดการเรียนคำสอนให้  หรือบางแห่งจัด  "ค่ายคำสอน"  ที่ยังถือว่าเป็นจุดอ่อนของเราคือ  "การสอนคำสอนเยาวชน"  ที่ยังมีไม่มากนัก

ศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทยได้สอบถามบรรดาเยาวชนโดยตั้งคำถามว่า  "ปัญหาศาสนาที่อยากถามคือ..."

ผลปรากฎว่าเยาวชนจำนวน 466 คน ได้เขียนคำถามที่อยากรู้ 180 เรื่อง  แยกแยะออกได้ 5 ประเภท  คือ  1) ร้อยละ 37 เป็นปัญหาเกี่ยวกับความรู้เรื่องของพระศาสนจักร
2) ร้อยละ 25 เป็นปัญหาเกี่ยวกับหลักความเชื่อ
3) ร้อยละ 22 เป็นปัญหาเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์
4) ร้อยละ 14 เป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพระบัญญัติ  และ
5)  ร้อยละ 1 เป็นปัญหาในเรื่องการภาวนา

ปัญหาเกี่ยวกับความรู้เรื่องของพระศาสนจักร  เช่น  คริสต์หรือคริสตชนหมายถึงอะไร  ศาสนาคริสต์เป็นเพียงแค่ลัทธิหนึ่งใช่ไหม  วิทยาศาสตร์จะไปด้วยกันกับศาสนาได้หรือไม่  พระราชัยสวรรค์  แผ่นดินสวรรค์  อาณาจักรพระเจ้าเหมือนกันใช่ไหม  ประวัตินักบุญ  ประวัติศาสนาคริสต์  ระหว่างศาสนาคริาต์กับศาสนาพุทธศาสนาใดมีก่อน  ศาสนาของเราเปิดใจรับศาสนาอื่นหรือไม่  คาทอลิก-คริสเตียนต่างกันอย่างไร  ทำไมจึงต้องแยกกันออกเป็นนิกายต่างๆ ฯลฯ

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อความเชื่อ  ที่เน้นมากๆ ได้แก่  ความมีอยู่จริงของพระเจ้า  เช่น  พระเจ้ามาจากไหน  พระเจ้ามีจริงหรือ  พระเจ้าอยู่ไหน  ทำไมพระเจ้าจึงทรงรักมนุษย์อย่างมากมายนัก  พระบิดาหน้าตาเป็นอย่างไร  พระเจ้าเป็นอย่างไร  พระตรีเอกานุภาพรวมกันได้อย่างไร  รองลงมา  คือ  เรื่องของพระเยซูเจ้า  เช่น  พระเยซูเจ้ามีจริงหรือเปล่า  การตรึงกางเขนช่วยไถ่บาปได้อย่างไร  มีปัญหาเกี่ยวกับชีวิต  เช่น เมื่อเราตายแล้วเราจะมีโอกาสพบพระจริงหรือ  ตายแล้วไปไหน  คนเกิดมาจากไหน  ปัญหาเกี่ยวกับพระคัมภีร์  เช่น  เขียนพระคัมภีร์อย่างไร  อาดัมเอวามีจริงหรือเปล่า  ทำไมต้องแยกพระธรรมเก่าพระธรรมใหม่

ปัญหาเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์  ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เยาวชนถามมามากที่สุดคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศีลบวชพระสงฆ์  เช่น  ทำไมคนภายนอกถึงมองว่าพระสงฆ์ดีทุกอย่าง  เป็นพระสงฆ์ยากไหม  เมื่อเป็นคุณพ่อแล้วต้องทำอะไร  ศีลฯที่รองลงมาคือ  ศีลมหาสนิทและศีลสมรส

ปัญหาเกี่ยวกับพระบัญญัติที่มากที่สุด  คือ  เรื่องการไปวัดในวันอาทิตย์  เช่น  ทำไมต้องไปวัด  ถ้าไม่ไปจะต้องทำอะไรทดแทน ฯลฯ

สุดท้ายปัญหาเรื่องการภาวนาซึ่งมีถามมาน้อยมากเช่น  ทำไมต้องภาวนา
คำถามเหล่านี้  บรรดาเยาวชนกำลังรอคำตอบจากรเาผู้อภิบาลทั้งหลาย

เผยแพร่ดดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการอบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทย
บาทหลวงวัชศิลป์  กฤษเจริญ

วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทวันทามารีอา

การภาวนาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคริสตชนคาทอลิก  การภาวนาคือการสื่อสาร  หรือ  สนทนา  หรือติดต่อกับองค์พระผู้เป็นเจ้า  โดยมีจุดประสงค์หลายประการ  แล้วแต่ความต้องการของจิตใจของผู้ภาวนา  เช่น  เพื่อสรรเสริญพระเเจ้า  เพื่อขอบคุณพระเจ้า  เพื่อขอพระพรหรือความช่วยเหลือ  ประการใดประการหนึ่งจากพระเจ้า  เพื่อขอโทษเมื่อทำความผิดหรือบาป  เราสามารถภาวนาให้ตนเองและผู้อื่นได้ด้วย

ศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทยได้ทำการสำรวจบรรดาเยาวชนในประเด็นที่ว่า  "บทภาวนาที่ท่านภาวนาบ่อยที่สุดคือ..."  เพื่อจะได้ทราบถึงการสวดภาวนาของพวกเขา  แล้วนำมาพิจารณาเพื่อการให้การอบรมบรรดาเยาวชนต่อไป

คำตอบจากเยาวชนอายุระหว่าง 15-20 ปี จำนวน 551 คน  ปรากฎว่า  เยาวชนร้อยละ 48 สวดบทวันทามารีอา  ร้อยละ 27 บทข้าแต่พระบิดาฯ  ร้อยละ 6 บทสิริพึงมี  และร้อยละ 4 บทข้าแต่อารักขเทวดา  ส่วนที่เหลือไม่แสดงความคิดเห็น

จากข้อมูลนี้แสดงว่า  บทวันทามารีอาเป็นวันที่เยาวชนใช้มากที่สุด  รองลงมา  คือ  บทข้าแต่พระบิดาฯ  ถ้าจะถามว่าบทภาวนาอะไรที่สำคัญที่สุดมนศาสนาคาทอลิก  ก็ต้องตอบว่า  "บทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย"  เพราะเป็นภาวนาที่พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้สอนให้บรรดาอัครสาวกได้สวดภาวนา  การที่บรรดาเยาวชนนึกถึงบทวันทามารีอาก่อน  อาจจะเป็นไปได้ที่พวกเขามีความศรัทธาต่อแม่พระเป็นพิเศษ  หรืออาจจะเป็นเพราะว่าบทวันทามารีอาสั้นกว่า  สวดง่ายกว่าก็ได้  แต่จะถามว่าผิดหรือไม่  ก็คงตอบว่าไม่ผิด  เพราะการสวดภาวนาของคาทอลิกมักจะสวดหลายบทพร้อมๆ กันในคราวเดียว

เรามาทำความเข้าใจบทวันทามารีอากันสักหน่อย
ประการแรกบทวันทามารีอานี้เป็นการ  "สรรเสริญพระตรีเอกภาพ"  โดยตรง  การที่พระแม่มารีอาได้รับเกียรตินี้  มิใช่ตัวของพระแม่เอง  แต่เพราะพระเมตตาขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงเลือกพระแม่  เป็นพระจิตที่ทรงทำให้พระบุตรมารับเอากายเป็นมนุษย์  และพระบุตรทรงบังเกิดเป็นมนุษย์จากพระแม่  เราจะพิจารณาถ้อยคำของบทภาวนานี้  ตามคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก  ภาค 4  ข้อที่ 2676-2677

"วันทามารีอา"  เป็นคำทักทายของพระเจ้าที่ผ่านทางฑูตสวรรค์เพื่อแจ้งข่าวการเป็นมารดาของพระบุตรพระเยซูเจ้า

"เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน  พระเจ้าสถิตกับท่าน"  ทั้งสองประโยคนี้เป็นคำทักทายของฑูตสวรรค์เช่นกัน  เป็นการบ่งบอกว่าพระแม่มารีอาทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าพอพระทัย  ทรงเลือกพระแม่ให้เป็นบุคคลสำคัญ  เป็นผู้ที่เต็มไปด้วยพระพรของพระจิตเจ้า  และพร้อมที่จะแจกจ่ายพระพรนั้นแก่โลก

"ผู้มีบุญกว่าหญิงใดๆ"  สาเหตุที่ทำให้พระแม่มารีอาเป็นผู้มีบุญ  เพราะว่าพระแม่มีความเชื่อในพระเจ้า  และมอบความไว้วางใจทั้งสิ้นไว้กับพระเจ้า  เป็นต้นทรงน้อมรับพระบัญชาของพระเจ้าให้เป็นมารดาของพระบุตร

"และพระเยซูโอรสของท่าน  ทรงบุญนักหนา"  เพราะพระมารดามีความเชื่อ  จึงกลายเป็นพระมารดาของผู้มีความเชื่อทั้งหลาย  ทำให้ทุกชาติได้รักพระเยซู  ผู้ทรงเป็นพระพรนั่นเอง

"สันตะมารีอา  มารดาพระเจ้า"  การเป็นมารดาของพระเจ้า  เริ่มจากการที่พระแม่ตอบรับฑูตสวรรค์ว่า  "จงเป็นไปแก่ข้าพเจ้า  ตามวาทะของท่าน"  เหตุนี้  เราจึงมอบความไว้วางใจไว้ในคำภาวนาของพระแม่

"โปรดภาวนาเพื่อเราคนบาป  บัดนี้  และเมื่อจะตาย"  เราวอนขอให้พระแม่มารีอา  ช่วยภาวนาเพื่อเรา  เพราะเรารู้ว่าเราเป็นคนบาป  ไม่สมควรทูลเสนอวิงวอนอันใดต่อพระเจ้า  จึงต้องมอบตนเองไว้กับพระแม่  อาศับพระแม่  เราวอนขอให้พระแม่ช่วยวิงวอนต่อพระเจ้าเพื่อเราทั้งในเวลานี้และเป็นต้นเมื่อเราจะตาย  ขอพระแม่ช่วยเหลือวิญญาณของเรา  และนำเราไปห่าพระเยซูเจ้า  พระบุตรของพระองค์

"อาแมน"  ขอให้เป็นไปตามนี้เทอญ

เผยแพร่โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการอบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทย
บาทหลวงวัชศิลป์  กฤษเจริญ

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

ไปวัดแล้วรู้สึกอย่างไร

ประสบการณ์การไปเข้าวัดของเราคาทอลิก  อาจจะมีอะไรที่แตกต่างไป  ศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทย  ได้ทำการสำรวจถึงความรู้สึกของเยาวชนด้วยคำถามที่ว่า  "เมื่อท่านไปวัดท่านรู้สึกอย่างไร"

เยาวชนจำนวน 466 คน  ให้คำตอบที่ไม่แตกต่างมากนัก  โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 92 ตอบว่า  ฝืนใจไป  เบื่อหน่าย  ทำตามหน้าที่  และที่เหลือเป็นคำตอบอื่นๆ

เยาวชนที่ตอบแบบสอบถามนี้  อาจจะเป็นเยาวชนที่มาวัดอยู่แล้ว  คำตอบจึงเป็นไปในบวกอย่างมาก  แต่อย่างไรก็ตาม  ทำให้เราเห็นได้ว่าการมาวัดทำให้เกิดผลดีแก่จิตใจของเยาวชน  หรืออนุมานได้ว่าเยาวชนมีความรู้สึกที่ดีกับการไปเข้าวัด

วัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  เราเรียกวัดว่าเป็น "บ้านของพระเจ้า" ดังนั้น  วัดจึงเป็นสถานที่ที่เราคาทอลิกมาชุมนุมกัน  เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ  เป็นต้น  พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ  นอกจากนั้นวัดยังเป็นสถานที่สำหรับสอนข้อความเชื่อแห่งข่าวดีของพระคริสตเจ้า  และยังเป็นสถานที่บรรดาพี่น้องคาทอลิก  ได้มาพบปะกันเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  การเป็นพี่น้องด้วยการกระทำกิจการที่ดีๆ ต่างๆ  (เทียบคำสอนฯ ข้อ 2179)

การไปวัดของเยาวชนทำให้เกิดผลดีแก่จิตใจ  เพราะวัดเป็น "บ้านของพระเจ้า" เยาวชนจึงสามารถพบพระเจ้าได้ที่นี่  เราสามารถมาวัดเพื่อสวดภาวนา  ร่วมพิธีกรรมต่างๆ  อ่านพระคัมภีร์  ฟังเทศน์จากคุณพ่อ  หรือพูดคุยกับคุณพ่อเจ้าวัด  กิจการต่างๆ เหล่านี้ทำให้ชีวิตจิตหรือความเชื่อของเราเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน (เทียบคำสอนฯ ข้อ 94)

ความรู้สึกที่ดีของเยาวชนที่ได้จากการมาวัดนั้น  ไม่ใช่เราะเขาได้พบพระเจ้าเท่านั้นแต่พวกเขายังได้พบปะเพื่อนๆ และสมาชิกคนอื่นๆ ของวัดอีกด้วย  ดังนั้น  การจัดกิจกรรมอะไรต่างๆ ที่วัด  หรือมีกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ หลังพิธีมิสซาฯ  จึงน่าส่งเสริมให้มีขึ้น  พี่น้องหลายท่านบอกว่ารู้สึกดีที่พบคุณพ่อเจ้าวัดหลังพิธีเพื่อทักทายสัตบุรุษ  บางวัดสภาอภิบาลจัดให้มีขนมนมเนยไว้บริการหลังพิธีมิสซาฯ

ทำอย่างไรให้วัดของเรามีบรรยากาศเป็น "บ้านของพระเจ้า" ได้อย่างแท้จริง  น่าช่วยกันทำนะครับ

เผยแพร่โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการอบรมคริสตศาสนธรรมประเทศไทย
บาทหลวงวัชศิลป์  กฤษเจริญ